ข้อมูลทั่วไป
 
ประวัติความเป็นมา วิสัยทัศน์ ตราสัญลักษณ์
  • ประวัติตำบลทรัพย์ทวี เริ่มจากบ้านควนท่าแร่ จากคำบอกเล่าต่อๆ กันมาว่ามีชาวบ้านดั้งเดิมเรียกบ้านนี้ว่า "บ้านกอมุด" ได้สร้างวัดชื่อ วัดควนท่าแร่ เล่ากันว่ามีสองวัด คือ วัดนอกและวัดใน ซึ่งเล่ากันว่าสร้างโดยพ่อ ม่าย และแม่ม่าย ตามคำบอกเล่าเป็นลายแทงว่า "วัดควนท่าแร่มีแม่สระใหญ่พ่อม่ายแลไปม่ายและมา ใครรู้จักกากาจะบอกทองให้" ตามคำบอกเล่าบอกว่าวัดอยู่ติดท่าน้ำคลองลำพูน ซึ่งเดิมไหลผ่านหน้าวัดปัจจุบันเป็นคลองตายริมท่าน้ำมีก้อนหินใหญ่เข้าใจว่าเป็นแร่จึงเรียกว่า วัดควนท่าแร่
    ต่อมาเมืองไทรบุรีเป็นกบฏ ทางราชการเกณฑ์ทหาร ชาวบ้านกอมุดกลัวถูกเกณฑ์เป็นทหารจึงพากันหนีไปอยู่ที่อื่น (บางคนว่าหนีโรคห่า) อาจจะไปอยู่บริเวณบ้านจันทร์โคตรในปัจจุบัน เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์และต่อมาได้ขึ้นมาอยู่บริเวณบ้านห้วยคุยในปัจจุบัน
    เมื่อชาวบ้านกอมุดหนีไปแล้ววัดก็ร้างและไม่มีใครจำเรื่องราวได้ มาจำได้ตามคำบอกเล่าว่ามีชาวบ้านกลุ่มใหม่เข้ามาอยู่แต่ไม่รู้มาจากไหน แต่ทราบภายหลังว่าชื่อ นายเคว็จ วิเชียรโพธิ์ ต่อมาได้เป็นกำนันมียศเป็นหมื่นพงษ์ วิเชียรโพธิ์ และจากการเล่าต่อกันมาได้มีชาวบ้านเข้ามาอยู่มากขึ้นและเข้าไปจับจองที่ทำกินตามบ้านห้วยทราย และตามบ้านต่างๆ ในปัจจุบัน
    ด้านการปกครอง เดิมตำบลทรัพย์ทวี คือ หมู่ที่ 2 ของตำบลท่าเรือและได้มีการแยกตั้งเป็นตำบล อยู่ในกิ่งอำเภอบ้านนาเดิมในขณะนั้น
    ปัจจุบันแบ่งเขตการปกครองเป็น 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ที่ 1 บ้านควนท่าแร่ หมู่ที่ 2 บ้านควนพระ หมู่ที่ 3 บ้านห้วยทราย หมู่ที่ 4 บ้านห้วยคุย และหมู่ที่ 5 บ้านจันทร์โคตร
  • วิสัยทัศน์การพัฒนา

    "ความสะดวกชาวประชา พัฒนาการศึกษา
    ส่งเสริมภูมิปัญญาพื้นบ้าน บูรณาการบริหารท้องถิ่น"

    พันธกิจการพัฒนาท้องถิ่น

    1. พัฒนาเส้นทางคมนาคม การขนส่ง ให้สะดวก และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มั่นคง
    2. พัฒนาการศึกษา จัดการศึกษาเด็กก่อนวัยเรียน ระดับประถม ระดับมัธยม ส่งเสริมและสนับสนุนงานประเพณีและวัฒนธรรม
    3. สนับสนุนส่งเสริมภูมิปัญญาพื้นบ้านและการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ พัฒนาการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์ และเงินกองทุนหมุนเวียน
    4. ส่งเสริมสุขภาพอนามัย และการบริการประชาชนด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ
    5. ดูแลแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ป้องกันการบุกรุกที่สาธารณะประโยชน์ รักษาสิ่งแวดล้อม
    6. พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค
    7. สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน พัฒนาการเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย
    8. พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์
    จุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนา

    1. การคมนาคมสะดวก โครงสร้างพื้นฐานมั่นคง
    2. ประชากรมีคุณภาพ มีความรู้
    3. เศรษฐกิจเติบโต แบบยั่งยืน
    4. ประชาชนมีสุขภาพดีทั่วหน้า
    5. สิ่งแวดล้อมดี ปลอดมลพิษ ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมีความสุข
    6. มีแหล่งน้ำในการอุปโภค - และบริโภค ทั่วถึง
    7. การบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance )
    8. ส่งเสริมและบำรุงการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น
    9. พัฒนาและส่งเสริมการกีฬา
    10. พัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิต
    11. พัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม