ที่ตั้ง บ้านควนท่าแร่ ตำบล/แขวง ทรัพย์ทวี อำเภอ/เขต บ้านนาเดิม จังหวัด สุราษฎร์ธานี
ประวัติ
วัดไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ดีสันนิษฐานจากโบราณวัตถุ โบราณสถานภายในบริเวณวัดแสดงว่า วัดควนท่าแร่เป็นวัดโบราณที่น่าจะมีอายุสมัยตั้งแต่ราวรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นอย่างน้อย และอาจขึ้นไปถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ชื่อควนท่าแร่ คงมาจากชื่อภูเขาดินที่มีแร่ดินลูกรังหรือแร่เหล็ก มีคำกลอนหรือมุขปาฐะว่า "วัดควนท่าแร่ มีแม่สระใหญ่ พ่อหม้ายแลไป แม่หม้ายแลมา ใครรู้จักกา กาจะบอกให้"
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม
๑.เจดีย์ มีทั้งหมด ๓ องค์ เรียงกันตามแนวทิศเหนือ-ใต้ เจดีย์องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าเจดีย์บริวารที่ขนาบข้างทางทิศเหนือและทิศใต้ ดังต่อไปนี้
-เจดีย์ด้านทิศเหนือ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองตั้งแต่ส่วนฐานถึงองค์ระฆังฐานล่างสุดเป็นฐานเขียงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ ๒.๑๐ x ๒.๑๐ เมตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวย่อมุมไม้สิบสอง ท้องไม้สูงกลางด้านทั้งสี่ของท้องไม้เจาะซุ้มมีรูปช้างปูนปั้นประดับอยู่ในซุ้ม ถัดขึ้นไปเป็นฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบสองทรงสูงรองรับบัวกลุ่มปากระฆัง ซึ่งรองรับองค์ระฆังรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ยอดทำเป็นบัวกลุ่มเถา ๓ ชั้นส่วนบนคาดด้วยลูกแก้ว ก่อนถึงปลียอดซึ่งหักลงครึ่งหนึ่ง
-เจดีย์ประธาน (เจดีย์องค์กลาง) เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองขนาด ๓.๕๐x ๓.๕๐ เมตร ประกอบด้วยฐานเขียง ๓ ชั้น รองรับฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ๑ ชั้น และฐานปัทม์อีก ๑ ชั้น สภาพหักพังตั้งแต่ส่วนบัวปากระฆัง ไม่ปรากฏตัวองค์ระฆังและเครื่องยอด
-เจดีย์ด้านทิศใต้ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัสคล้ายกับเจดีย์องค์ด้านทิศเหนือทุกประการขนาด ๒.๑๐ x ๒.๑๐ เมตร ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยปูนปั้นรูปช้างในซุ้ม
๒. พระพุทธรูปและฐานพระพุทธรูป
ฐานพระพุทธรูปลักษณะเป็นฐานชุกชีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๔.๔๐ x ๓.๖๐ เมตร มีพระพุทธรูปอยู่บนฐาน ๖ องค์ ด้านหน้า ๓ องค์ ด้านหลัง ๓ องค์ แต่ฐานพระพุทธรูปแถวหลังด้านทิศเหนือพังลงแล้ว พระพุทธรูปแถวหน้า ๓ องค์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย อาจจะสร้างขึ้นภายหลังพระพุทธรูปแถวหลัง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลาทรายแดง โดยประกอบด้วย
พระพุทธรูปแถวหน้า
- ด้านทิศเหนือ ฐานพระพุทธรูปเป็นฐานสิงห์ มีผ้าทิพย์ประดับข้างหน้า ที่ชั้นบัวหงายปั้นเป็นลายกนก - องค์กลาง ฐานพระพุทธรูปเป็นฐานสิงห์ บัวหงายทำเป็นรูปกลีบบัวซ้อนกัน
- ด้านทิศใต้ ฐานพระพุทธรูปเป็นฐานสิงห์ มีผ้าทิพย์ประดับข้างหน้า
พระพุทธรูปแถวหลัง
- ด้านทิศเหนือ เป็นพระพุทธรูปศิลาทรายแดง ขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ประทับนั่งบนฐานสิงห์ ด้านหน้าประดับด้วยผ้าทิพย์
- องค์กลาง เป็นพระประธานทำจากศิลาทรายแดง ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ ๒.๒๕ เมตร ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานสิงห์ ปางมารวิชัย ลักษณะพระพุทธรูปเป็นศิลปะท้องถิ่น สมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
- ด้านทิศใต้ ฐานพระพุทธรูปหักพังไป เหลือแต่พระพุทธรูปหินทราย ซึ่งส่วนบนหัก
๓. ฐานใบเสมา
มีทั้งหมด ๗ ฐาน เป็นฐานก่ออิฐถือปูนสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ประกอบด้วยฐานเขียง ๑ ชั้น ฐานสิงห์ ๑ ชั้น เหนือฐานสิงห์เป็นใบเสมาคู่ ปัจจุบันเหลืออยู่ ๙ ใบ ส่วนตัวพระอุโบสถได้บูรณะเป็นของทำขึ้นใหม่ไปแล้ว
๔. อุโบสถ
มีขนาดประมาณ ๔.๕๐ x ๑๒.๐๐ เมตร บริเวณโดยรอบเป็นที่ประดิษฐานใบเสมาคู่ทำด้วยหินทราย สลักเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษา อุโบสถหลังเก่าได้ถูกของใหม่สร้างทับไปหมดแล้ว ซึ่งหลังเก่านั้นได้ถูกรื้อไปจนเหลือเฉพาะส่วนฐานเท่านั้น
สภาพปัจจุบัน อุโบสถได้รับการบูรณะใหม่ แต่ยังคงใบเสมาเดิมไว้ โดยใบเสมามีสภาพพังทลาย และฐานชุกชีพระประธานเสื่อมสภาพมาก ลักษณะการใช้งานปัจจุบัน เป็นวัดในพุทธศาสนาและเป็นโบราณสถาน
ที่มา http://www.gis.finearts.go.th